ทักษะที่สำคัญของคนไอทีในการทำงานในปี 2014

ทักษะที่สำคัญของคนไอทีในการทำงานในปี 2014

»by: Zobisnetwork, เมื่อ 13-09-2013 06:19น. , แก้ไขล่าสุดเมื่อ 13-09-2013 06:19น. | View : 1767

IT Technology Trends 2014 for Thailand from IMC Institute

1) Smartphone/Tablet Explosion:Post-PC Era

กระแสการใช้ Smartphone และ Tablet บ้านเราก็ยังแรงต่อเนื่อง และการใช้ไอทีในบ้านเราก็เข้าสู่ยุคหลังพีซีอย่างแท้จริงจากเดิมที่ผู้ใช้ไอทีจะใช้เครื่องพีซีที่มีระบบปฎิบัติการ  Windows เป็นหลัก แต่วันนี้ผู้ใช้ไอทีจะมีอุปกรณ์และระบบปฎิบัติการที่หลากหลายและ  Windows เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือก

ข้อมูลล่าสุดจากกสทช.จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เครื่องที่ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 89.98 ล้านเลขหมาย ซึ่งคิดเป็น 131.84% ของประชากร และในจำนวนนี้คาดว่า 31% ของประชากรไทยมีการใช้งาน Smartphone [ข้อมูลจาก  Our Mobile Planet] และถ้าบริษัทวิจัย GfK ก็ระบุว่าใน 4 เดือนของปี 2013  มีเครื่อง Smartphone จำหน่ายไปแล้วกว่า 2.87 ล้านเครื่อง โดยคาดการณ์ยอดจำหน่ายทั้งปีประมาณ 7.5 ล้านเครื่องจากเครื่องโทรศัพท์มือถือ 16  ล้านเครื่อง

ในด้านของอุปกรณ์เราจะเห็นว่าข้อมูลจากการสำรวจของสวทช.ระบุว่าปีที่แล้วเรามียอดจำหน่ายเครื่องเดสต์ท็อปพีซี 1.26  ล้านเครื่อง Notebook 2.1 ล้านเครื่อง และ Tablet 1.3 ล้านเครื่อง ซึ่งในปีนี้ทาง IDC คาดการณ์ว่ายอดจำหน่าย Tablet จะพุ่งขึ้นสูงถึง 3.5  ล้านเครื่องทั้งนี้จากนโยบาย OTPC  ของรัฐบาล และจะมียอดของ Notebook 2.5 ล้านเครื่อง และ เดสต์ท็อปพีซี 1.5  ล้านเครื่อง

ข้อมูลจาก Gartner เมื่อเดือนเมษายน 2013 ก็ระบุให้เห็นเช่นกันว่ายอดจำหน่ายเครื่องพีซีทั้งเดสต์ท็อปและ Notebook ทั่วโลก จะมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องคือประมาณการณ์ว่าจาก 315  ล้านเครื่องต่อปีในปี 2013  เหลือเพียง 271  ล้านเครื่องต่อปีในปี 2017 ในขณะที่ยอดจำหน่าย Tablet ทั่วโลกจะแซงหน้ายอดของเครื่องพีซีโดยจะมีจำนวน  467  ล้านเครื่องต่อปีในปี 2017

สำหรับสัดส่วนการตลาดของเครื่อง Smartphone  และ Tablet  ทาง IDC ได้เปิดเผยข้อมูลยอดจำหน่ายในไตรมาสสองปีนี้ให้เห็นว่าเครื่องที่ใช้ระบบปฎิบัติการ  Android มีสัดส่วนที่แซงหน้ารับบปฎิบัติการ iOS ของ Apple  ไปอย่างมากโดยมีสัดส่วนการตลาด Smartphone ถึง  79% เมื่อเทียบกับ   iOS  ที่ลดลงเหลือเพียง  13% และก็มีสัดส่วนการตลาดของ  Tablet  62.6% เมื่อเทียบกับ   iPad  ที่ลดลงเหลือเพียง  32.5% ทั้งๆที่ในไตรมาสสองปีที่แล้ว iPad มีสัดส่วนการตลาดนำ  Android ถึง 60% ต่อ 38%  ซึ่งแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับตลาดในประเทศไทยที่ทาง GfK ระบุว่า ตลาด Smartphone ในประเทศไทยเป็นระบบ  Android  70% เมื่อเทียบกับ iOS ที่ 20%

2)  Cloud Computing: From Personal Cloud to SaaS

กระแสไอทีที่น่าจะมาแรงในปีหน้าอีกเรื่องก็คือ Software as a Service (SaaS)  ทั้งนี้เนื่องจากผู้ใช้ไอทีในบ้านเราที่เริ่มคุ้นเคยกับการใช้ Cloud  โดยเฉพาะ  Personal Cloud  ที่เป็นการใช้  Storage as a Service  อาทิเช่น  Dropbox, iCloud  หรือ Google Drive ประกอบกับบริษัทซอฟต์แวร์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเริ่มให้บริการ  SaaS ในประเทศไทยมากขึ้น และเริ่มมีการทำตลาดในประเทศไทย อาทิเช่น   Creative Cloud  ของ Adobe ที่เลิกทำ Packaged Software แล้วมาทำตลาด SaaS อย่างเดียว ก็ทำราคาในประเทศไทยแบบรายเดือนที่เริ่มต้นตั้งแต่ 600 บาท หรือทาง ไมโครซอฟต์เองก็ประกาศจำหน่ายโปรแกรม Office 365 ที่เป็น Home Edition ในราคา 2,290 บาทต่อปีที่มาพร้อมกับพื้นที่บน SkyDrive และการใช้โทร Skype

นอกจากนี้ข้อมูลจากรายงานของ PwC  เมื่อเดือนพฤษภาคม 2013  ก็แสดงให้เห็นว่าตลาดซอฟต์แวร์ SaaS  ซึ่งในปี 2011 มีมูลค่าตลาดรวมเพียง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐและคิดเป็นสัดส่วนเพียง 7  % ของมูลค่าการตลาดซอฟต์แวร์ทั้งโลก จะโตขึ้นเป็น 24% ในปี 2016    ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่ากระแสของ SaaS  จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปและกลุ่ม SME

สุดท้ายผมได้ไปดูข้อมูลจาก  Google Trends ที่เปรียบเทียบการค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่จะเห็นได้ว่าแม้กลุ่มของ Storage as a Service  เช่น  Dropbox จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในบ้านเรา แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาคำว่า  Office 365 หรือ  Google Apps ก็เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น

3)  Online Consumerization: Social Networks / 3G /Broadband

การเปิดให้บริการ  3G   อย่างเต็มรูปแบบของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะทำให้คนไทยใช้บริการออนไลน์มากขึ้น ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจากข้อมูลของ TrueHits  แสดงให้เห็นว่าในป้จจุบันเรามีประชากรอินเตอร์เน็ตในประเทศจำนวน 23.86 ล้านคนหรือคิดเป็นอัตราส่วน 35.8% และเรายังมีการเชื่อมต่อ   Broadband  ตามบ้านถึง 4.55  ล้านหลัง หรือคิดเป็น 22.7%  ของจำนวนที่อยู่อาศัย นอกจากนี้คนไทยยังใช้งาน Social Networks ค่อนข้างสูง โดยได้เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารแบบเดิมมาสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น โดยข้อมูลจาก ZocialRank ระบุว่าเรามีจำนวนผู้ใช้ Facebook 18.5 ล้านคน Line  18 ล้านคน และ Twitter 2 ล้านคน นอกจากนี้เรายังมีวิดีโอบน  YouTube  ในประเทศถึง 5.3 ล้านคลิป

คนไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่มีสี่หน้าจอต่อหนึ่งผู้ใช้ ที่เราอาจใช้อุปกรณ์อย่างมือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี หรือแทปแล็ตที่ทำงานคล้ายๆกัน และ  sync   ข้อมูลต่างๆเข้าหากัน โดยเราอาจดูทีวีหรือหนังผ่านมือถือหรือแทปเล็ต และก็เป็นไปได้ที่เราอาจเล่นอินเตอร์เน็ตทางจอทีวี ข้อมูลจาก We arre social  ระบุว่าคนไทยโดยเฉลี่ยใช้เวลา 16.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเล่นอินเตอร์เน็ตขณะที่เราใช้เวลาในการดูทีวีโดยเฉลี่ยเพียง 10.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้จากการสำรวจของ Nielsen Thailand ระบุว่า คนไทยเล่นอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์มือถือถึง 49% ขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์เพียง36%

4) Mobile Applications: Cross Platform with HTML5

เนื่องจากการใช้งานของผู้ใช้ไอทีเปลี่ยนไปสู่อุปกรณ์อย่างSmartphone หรือ  Tablet มากขึ้น การทำ Application จึงต้องเน้นกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้มากขึ้น และจะต้องทำ  Mobile Application  หลากหลาย Platform ทั้ง  Android, iOS และ Windows ซึ่งภาษาการพัฒนาโปรแกรมโดยใช้ HTML5 จะช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถพัฒนาโปรแกรมเพียงครั้งเดียวแต่ใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาโปรแกรมแบบ  Native App  จะสามารถใช้ฟังก์ชั่นต่างของอุปกรณ์ได้ดีกว่าเช่น การบอกตำแหน่ง ทำให้ผู้พัฒนาก็ยังจะให้ความสำคัญอยู่

ในปีหน้าคาดว่าหน่วยงานต่างๆในบ้านเราจะมีการพัฒนา  Mobile Application มากขึ้น และข้อมูลจาก Distimo เริ่มแสดงให้เห็นว่าตลาด Google Play  ประเทศไทยเริ่มโตขึ้นทั้งในด้านรายได้และจำนวนการดาวน์โหลด ซึ่งทาง Our Mobile Planet ระบุว่าโดยเฉลี่ยคนไทยจะมี Application อยู่ใน smartphone ประมาณ  21 App แต่ใช้ประจำเพียง 8 App และมีเพียง 4  App ที่จ่ายเงิน

 5) Bring Your Own Devices: Flexible Office/Workers

กระแสการใช้อุปกรณ์ smartphone และ Tablet  แทนที่การใช้เครื่องพีซี ประกอบกับการใช้ 3G และ  Broadband ทีมีอย่างกว้างขวางขึ้นทำให้วิถีการทำงานของคนเปลี่ยนไป พนักงานในองค์กรก็ต้องการที่จะใช้อุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้ทั้งงานขององค์กรและเรื่องส่วนตัว ทำให้องค์กรต่างๆเริ่มอนุญาตให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น

กระแส   BYOD กำลังเข้ามาในบ้านเรา ซึ่งจากการสำรวจของ VMware  พบว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ทำการสำรวจอนุญาตให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ในที่ทำงานได้ ดังนั้นองค์กรต่างๆต้องเริ่มปรับนโยบายในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลขององค์กร สิ่งที่องค์กรต่างๆจะลงทุนมากขึ่นในปีหน้าทางด้านนี้ก็คือเรื่องการวางนโยบายตลอดจนการหาเครื่องมือด้านความปลอดภัยเพือรองรับ BYOD มาใช้ในองค์กร

6) IaaS: Migrate Servers to Cloud

การใช้ Cloud Service  ที่เป็น Infrastructure as a Service (IaaS) ในประเทศจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ผู้ให้บริการ Data Center หรือแม้แต่ Telecom Operator ในประเทศจะให้บริการ IaaS มากขึ้น โดยผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่ม SME ในฝั่งของภาครัฐบาลก็จะเห็นการให้บริการ  G-Cloud  ที่ดีขึ้น การใช้  Cloud ก็จะแพร่หลายมากขึ้น องค์กรต่างๆก็จะสนใจใช้ Cloud ทั้งๆที่มาจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้เป็น DR site

นอกจากนี้องค์กรใหญ่ๆก็จะเริ่มมีการติดตั้ง  Private Cloud มากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจของ VMWare เมื่อปัี 2012 พบว่าองค์กรต่างๆในประเทศไทยถึง 83% มีการติดตั้งหรือมีแผนที่จะทำ  Private Cloud  และจากการสำรวจข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่าตลาด  Cloud Computing ของประเทศไทยในปี  2013 จะโต 16.7%-22.1% คือมีมูลค่าระหว่าง 2,220  – 2,330 ล้านบาท

7) Internet of things: Connected Anywhere, Anytime and Anydevices

นอกเหนือจาก  Mobile Technology  กระแสอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะมาแรงคือ อุปกรณ์ต่างๆที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ทั้ง Smart TV หรือ Wearable Technology ซึ่งในปัจจุบัน 50% ของอุปกรณ์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งของต่างๆ โดยในปี2010 เรามีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในโลก 5 พันล้านชึิ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น  50,000 ล้านชิ้นในปี 2020

อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอาจเป็นการเชื่อมต่อผ่าน NFC, Bluetooth, 3G หรือ WiFi  โดยอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่กำลังกล่าวถึงอย่างมากคือ Google Glass ที่คาดว่าจะวางตลาดในปีหน้า และยังมีอุปกรณ์อย่าง Jawbone UP หรือนาฬิกาที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าตลาดของ  Internet of Things และ Machine to Manchine (M2M) จะโตขึ้นเป็น 290 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017

8) M-Commerce: From e-Commerce to mobile payment

คนไทยเริ่มยอมรับการซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติประมาณตลาด  e-commerce ในบ้านเราไว้ที่ 340,903 ล้านบาทในปี 2011 ซึ่งน่าจะรวมถึงตลาดการซื้อขายออนไลน์ของภาครัฐด้วย ขณะที่ Paypal ประมาณการว่าตลาด e-coomerce ในประเทศไทยจะโตสูงขึ้นถึง 15 พันล้านบาท ในปี 2013

นอกจากนี้ก็มีผลสำรวจของทาง  Mastercard ที่สำรวจพฤติกรรมการซื้อของทาง e-commerce ของคนไทย พบว่า 67% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามเคยซื้อของทาง e-commerce และ 37% เคยใช้  M-Commerce ซึ่งถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในเอเซียที่มีการซื้อของทาง smartphone ค่อนข้างสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจของ OurMobilePlanet  ที่คนไทยเคยซื้อของผ่าน smartphone สูงถึง 51% มากกว่าประเทศอื่นๆอย่าง สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือไต้หวัน

ข้อมูลทางด้านการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ประเทศไทยมีบัญชี Internet Banking ถึง 7 ล้านบัญชี และมีบัญชี  Mobile Banking  969,977 บัญชี ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ สนับสนุนให้เห็นว่าตลาด M-commerce ในปีหน้าในประเทศไทยน่าจะโตขึ้นอย่างมาก

9) Big Data: BI in a Big Data World

การโตขึ้นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และการใช้อุปกรณืเชื่อมต่อต่างๆ ทำให้ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งในรูปของข้อมูลแบบ  structure และ unstructure รวมถึงมีข้อมูลจากแหล่งต่างๆทั้งที่อยู่ใน social networks และข้อมูลบริษัท ทำให้องค์กรต่างๆอยากใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น

กระแสของการหาเครื่องมือใหม่เพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จึงมีมากขึ้น อาทิเช่นการใช้เทคโนโลยีอย่าง Hadoop ทำให้องค์กรต่างๆจะต้องลงทุนในการพัฒนาบุคลากรและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดด้าน   Big Data จะโตเป็น 16.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ถึง  4.4 ล้านตำแหน่งในปี 2015

10)Augmented Reality:Changing our daily life

เทคโนโลยีเสมือนจริง ( AR: Augmented Reality) เริ่มเป็นทีแพร่หลายมากขึ้น ในบ้านเรา มีการนำมาใช้ในด้านการศึกษาและการตลาด เราน่าจะเห็นตลาดทางด้่านนี้โตขึ้นมาก โดยทาง Research and Market คาดการณ์ว่าตลาดด้านนี้ทั่วโลกจะโตขึ้นถึง 5.155 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 และในปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นบริษัทไทยหลายๆบริษัทมาทำงานทางด้านนี้มากขึ้น
 
แหล่งข้อมูล http://thanachart.org/2013/09/06/technology-trends-2014/ โดย ธนชาติ นุ่มนนท์ 

 

Posted under โปรแกรมคอมพิวเตอร์และนวัตกรรม