การปลูกไผ่หวาน “พันธ์ลืมแล้ง” ที่โรงเรียนบ้านควนเจดีย์

ข้อมูลทั่วไปของไผ่หวานลืมแล้ง

ไผ่หวานลืมแล้งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  DENDROCALAMUS ASPER BACKER   อยู่ในวงศ์ GRAMINEA  ลำต้นสูงได้กว่า 15 เมตร. ลำต้นเป็นข้อหรือปล้อง ระหว่างข้อหรือปล้องยาวประมาณ 30-50ซม. ลักษณะของข้อนูนเห็นได้ชัดเจน สีของลำไผ่หวานลืมแล้งเขียวเข้มเป็นมันไม่มีขน เนื้อในลำต้นจะตันหรือเกือบตัน อาจมีรูเล็กๆไม่กลวงเหมือนลำไผ่ทั่วไป น้ำหนักเฉลี่ยของหน่ออยู่ประมาณ 1.5-3.0 กิโลกรัม/หน่อ เนื้อของหน่อที่รับประทานได้มีประมาณ 75% ของหน่อ สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ทนต่อสภาวะต่างๆได้ดี ไม่เปลืองสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้ปลอดจากสารเคมี และ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยดีที่สุดสำหรับการปลูกไผ่หวานลืมแล้ง ใช้เวลาสั้นในการเก็บเกี่ยวผลผลิต(ประมาณ1ปี) ปลูกง่าย โตไว รายได้ดี  (คืนทุนเร็ว ความเสี่ยงน้อย)

การปลูกไผ่หวานลืมแล้ง

ฤดูที่เหมาะสม ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือราวเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

การเตรียมพื้นที่ปลูก

พื้นที่จะปลูกควรตัดโค่นไม้ใหญ่ออก เพราะจะไปแย่งอาหารจากไผ่ ถ้าได้พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำจะดีมาก เพราะไผ่เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ไผ่ทั่วไปไม่ชอบน้ำขังแต่สำหรับไผ่หวานลืมแล้งน้ำท่วมขังก็ไม่ตาย ได้ทดลองโดยจมอยู่ในน้ำนานถึง 4เดือนก็ไม่เป็นอะไร(แต่ต้องปลูกเกิน6เดือนแล้ว)  เริ่มการเตรียมพื้นที่ปลูกโดยการไถหยาบด้วย ผาน 3 ตากแดดให้ดินแห้งเพื่อกำจัดเชื้อราและวัชพืชบางชนิด ทิ้งไว้ สัก 5-7 วัน ไถละเอียดด้วยผาน 7 อีกครั้ง เป็นอันใช้ได้ หรือหากใครไม่รีบร้อน ไถผาน3 แล้ว หว่านปอเทือง พอต้นโตออกดอกแล้ว ไถกลบด้วย ผาน 7 เพื่อปรับสภาพดินก่อน จะดีมากเลยครับ
จำนวนกิ่งพันธุ์ที่ที่ใช้ ต่อ 1ไร่

ระยะห่างระหว่างต้น    3 เมตร

ระยะห่างระหว่างแถว  4 เมตร ใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ  120   กิ่ง

หลักการคำนวณ

400 ตารางวา  =   1 ไร่      หรือ       1,600 ตาราเมตร    = 1ไร่

เพราะฉะนั้นพื้นที่  1,600 ตรม.  จะมีพื้นที่ขนาด กว้าง*ยาว =  40เมตร*40 ม.
ต้องการปลูกระยะระหว่างแถว 4 เมตร (กั้นทางเดินไว้เก็บเกี่ยว)ต้องใช้ต้นไผ่
40/4=10ต้น
ต้องการปลูกระยะระหว่างต้น  3 เมตร

ต้องใช้กิ่งพันธุ์  40/3 = 12 ต้น

พื้นที่  1   ไร่   จะใช้ต้นไผ่ (10*12  ต้น)     =    120   ต้น

ที่กำหนดไว้   1ไร่ ควรปลูก ประมาณ  (100-120ต้น)เพื่อความยืดหยุ่นของแต่ละบุคคลและสถานที่ต้องเว้นพื้นที่ไว้เพื่อทำถนนและอื่นๆจำนวนที่เหมาะที่สุดอยู่ที่ไร่ละ100ต้นครับ

 

วิธีปลูกไผ่หวานลืมแล้ง

ขุดหลุมปลูก ขนาดมาตรฐาน 40x40x40 ซ.ม. (แนะนำว่าหากใครจ้างคนงานปลูกควรดูให้ดี ระวังจะหดเหลือ 15-20 ซ.ม. แทน แต่ขนาดของหลุมก็ขึ้นอยู่กับสภาพของดินถ้าเป็นร่วนปนทรายหลุมก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่ขนาดนั้นบางพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวหลุมจะอยู่ที่25×25ซ.ม.) ระยะห่างระหว่างต้น ที่สวนโพธิ์พระยา (ตงลืมแล้ง)ผมปลูกไผ่ขนาด 3×4 เมตร. โดยขุดหลุมและนำดินขึ้นมากองไว้ใส่ปุ๋ยคอกผสมกับหน้าดินที่ขุดขึ้นมาลงไปประมาณ 0.5-1.0 กิโลกรัม    ถ้าใครไม่แน่ใจว่าดินแถวนี้มีปลวกเยอะหรือเปล่าก็แนะนำให้ใส่ยาฆ่าแมลงฟูราดานลงไปด้วย 1ช้อนชา ผสมดินกับปุ๋ยคอกให้เข้ากันรองก้นหลุมด้วยดินที่ผสมปุ๋ยคอกแล้วให้สูงจากดินก้นหลุม ประมาณ 10-15 ซม. แล้วนำต้นกล้าไผ่หวานลืมแล้งวางลงไปในหลุมให้วางกิ่งไผ่เอียงประมาณ 50-60 องศา(เพื่อหน่อต่อไปจะได้แทงขึ้นตรงและเร็ว) ฉีกถุงพลาสติกออกก่อนวางกิ่งพันธุ์ กลบดินจนพูน ตอนนี้ให้รดน้ำและอัดดินให้แน่น(สำคัญ) เมื่อดินล่างแน่นแล้วให้กลบดินทั้งหมดลงไป พูนดินบริเวณโคนกิ่งไผ่ให้เป็นเนินสูงเล็กน้อย ใช้ไม้ปักเป็นหลักตอกยึดกิ่งไผ่ไว้ให้แน่นเพื่อกันลมโยก ถ้าลมแถวนั้นแรง ถ้าลมไม่แรงมากไม่ต้องปักหลักไม้ ใช้เชือกปอแก้วบางๆมัดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มเมื่อดินยุบตัวแล้วจะเสมอกับพื้นที่ปลูกพอดี ถ้าจะทำอย่างละเอียด (มีเวลามาก) ควรใช้ทางมะพร้าวหรือวัสดุอื่นช่วยพรางแสงแดดจนกว่าต้นกล้าจะมีใบใหญ่ และตั้งตัวได้ แล้วจึงค่อยเอาออก แต่ถ้าปลูกหน้าฝนผมขอเสนอว่า ไม่ต้องครับ

การดูแลรักษาไผ่หวานลืมแล้ง
ควรทำการบำรุงรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
1. การให้น้ำ
ช่วงแรก (โดยเฉพาะ 1-3 เดือน) ต้นไผ่ต้องการน้ำมาก ควรให้น้ำวันเว้นวัน แต่ถ้าปลูกไผ่ในฤดูฝน อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำถี่ขนาดนั้นก็ได้(เพราะฉะนั้นเราควรจะปลูกไผ่กันในฤดูฝนเพื่อลดต้นทุนต่างๆ) นอกจากในกรณีฝนทิ้งช่วงนาน จึงให้น้ำช่วย แต่หลังจากหมดฝนแล้ว ผู้ปลูกต้องคอยรดน้ำให้เสมออย่าปล่อยให้ขาดน้ำนาน เพราะในปีแรกต้นไผ่ยังไม่ค่อยแข็งแรงนักถ้าไม่มีน้ำ อาจตายได้โดยง่าย หลังจากต้นไผ่อายุเกิน 6-8 เดือน ไปแล้ว จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น

  1. การใส่ปุ๋ย
    ในช่วงต้นปีแรก (1-3เดือน)ต้นไผ่สามารถใช้ปุ๋ยคอกที่คลุกเคล้าไปกับดินที่ปลูกได้พอ แต่ในระยะต่อๆ ไป จำเป็นต้องมีการพรวนดินรอบๆกอและใส่ปุ๋ยคอก 1เดือน/ครั้ง ครั้งละประมาณ2-3กกในระยะนี้อาจจะเห็นว่าหน่อที่แตกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กและจะมีขนาดโตขึ้นทุกๆ ปี ถ้าความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ดีพอเพียง แต่ถ้าจะให้ผลรวดเร็วควรจะให้ปุ๋ยเคมี 46-0-0 เร่ง ประมาณ2-3กำมือ/กอ/เดือน จะทำให้ไผ่เกิดหน่อปริมาณมากตลอดปี เดือนที่7 จะทำการตัดแต่งกอและพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมพรวนดินอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะพรวนดินยาก
    ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ(กรณีพิเศษ)จะใส่ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ถึง พ.ค. ปุ๋ยที่นิยมคือใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ในอัตรา 2-3กิโลกรัมต่อ กอ/เดือน   หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21อัตรา 200กรัมต่อกอ และปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0   200กรัม/กอ (เร่งหน่อเพื่อขาย ก่อนหน่อไม้ไทยจะเริ่มออกหน่อ)

3.การไว้ลำและการตัดแต่งกอไผ่หวานลืมแล้ง
ไผ่หวานลืมแล้ง เมื่อปลูกได้ประมาณ  3-4 เดือนจะเริ่มแตกหน่อได้ประมาณ 2-3 ลำ ในระยะแรกนี้จะไม่มีการตัดหน่อเลย ปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอไผ่ในช่วงนี้จะทำการตัดลำต้นที่เล็กออกไป ไม่ต้องเสียดาย ให้เหลือไว้เฉพาะลำที่ใหญ่ ลำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้วตัดทิ้งให้หมด วิธีการตัด ต้องตัดให้จมดิน อย่าให้มีตาเหลืออยู่อีก(ไม่ต้องการให้ขยายพันธุ์อีก)  กิ่งแขนงเล็กๆ บริเวณโคนต้นที่ขึ้นเกะกะของลำแม่ควรตัดแต่งให้โล่ง(แสงแดดส่องถึงพื้นได้) เพื่อสะดวกในการให้น้ำและดูแล เมื่อต้นไผ่อายุได้ประมาณ 7-8 เดือนจะมีหน่อแทงขึ้นมาอีก 5-6หน่อ ตอนนี้ก็ยังไม่มีการตัดหน่อ ปล่อยให้ไผ่เป็นลำต่อไป แต่ถ้าพื้นที่ตรงนั้นดินอุดมสมบูรณ์ดี หน่อออกเยอะเราควรตัดขายไปบ้าง เช่นถ้าขึ้นมา 5หน่อให้ตัดขายไป 3หน่อ แต่ให้เลือกเอาหน่อที่สมบูรณ์ไว้(หน่อที่เบียดกันให้ตัดออกขายไป) การดูแลกอไผ่เพียงแค่ตัดเอาหน่อเน่า ลำคดเอียงแคระแกร็นออกและตัดแต่งกิ่งแขนงเล็กๆทิ้ง รักษาลำไผ่ให้มีอยู่ประมาณ 5-6ลำ (ลำใหญ่ๆ)จากนั้นจึงเริ่มตัด  หน่อขายบ้าง การตัดหน่อขายนี้ควรจะตัดจากกลางกอก่อนแล้วขยายออกมารอบนอกกอ ซึ่งหน่อนอกๆ ต้องมีการรักษาไว้บ้างเพื่อให้เป็นลำแม่ โดยเลือกหน่อที่อวบใหญ่และอยู่ในลักษณะที่จะขยายออกเป็นวงกลมเพื่อจะทำให้กอใหญ่ขึ้น มีหน่อมากขึ้นในปีต่อไป สะดวกที่จะเข้าไปดูแลรักษาและตัดหน่อ
การตัดแต่งกอนั้น ควรทำติดต่อกันทุกๆ ปี  สำหรับไผ่หวานลืมแล้งนี้ควรแต่งกอไผ่ประมาณต้นเดือน  ก.ค.เพราะตอนนี้ ไผ่ชนิดอื่นกำลังออกหน่อ ช่วงนี้หน่อไม้ออกเยอะราคาไม่ค่อยดี ควรปล่อยหน่อให้เจริญเป็นลำแม่ได้เต็มที่ พอต้นเดือนตุลาคม จึงค่อยอัดปุ๋ยคอกและน้ำเพื่อเร่งการออกหน่อในช่วงหน้าหนาว และหน้าแล้ง ช่วงนี้ราคาของหน่อไผ่จะดีมาก (พ.ย.-พ.ค.)ของทุกปี

  1. การบังคับให้เกิดหน่อมากขึ้น
    ในการบังคับให้ไผ่หวานลืมแล้งแทงหน่อมากขึ้นตามฤดูกาลนั้น นอกจากการใส่ปุ๋ยและปฏิบัติดูแลตามปกติแล้ว ยังมีวิธีกระตุ้นให้ไผ่หวานแทงหน่อมากขึ้น โดยการสุมไฟในฤดูแล้งช่วงที่ลมสงบ(ปลายเดือน ม.ค-ก.พ.) โดยการรวบรวมใบไผ่และ กิ่งแขนง ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งแล้วนำมากองให้ห่างจากกอประมาณ 1 เมตร จุดไฟเผา แต่ต้องระวังไม่ให้ไฟกรรโชกมาก โดยการพรมน้ำช่วยหรืออาจเอาใบไผ่และกิ่งแขนงสุมในกอเลย แต่ต้องระวังไม่ให้ไฟลามไปติดส่วนบนๆ ของกอ ในการสุมไฟนั้น เข้าใจว่าเป็นการเร่งให้ไผ่หวานมีการพักตัวเร็วขึ้น (hardening) เมื่อก่อนเข้าสู่ฤดูฝนจะได้แทงหน่อมากขึ้น หลังจากที่ได้พักตัวอย่างเต็มที่และการสุมไฟยังช่วยในการกำจัดโรคและแมลงไปพร้อมกันด้วย
    นอกจากนี้ ยังมีวิธีการบังคับการออกหน่อวิธีอื่นอีก เช่น การพรวนดินแปลงไผ่หวานลืมแล้ ทั้งในระหว่างแถวและระหว่างต้น โดยทำการพรวนดินในช่วงก่อนฤดูแล้ง ประมาณเดือนก.ค.-ก.ย. เป็นการทำลายรากแก่เพื่อให้แตกรากใหม่ ดังนั้นในการพรวนดิน การให้น้ำ ให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ไผ่หวานลืมแล้งออกหน่อ

เร็วและดกตลอดปี ส่วนการบังคับให้ไผ่หวานแทงหน่อนอกฤดูปกติก็ทำได้เช่นกัน โดยการบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มรวมกับปุ๋ยคอกและการให้น้ำอย่างถูกต้อง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงสามารถเร่งหน่อได้ และจะทำได้เฉพาะแปลงปลูกที่มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น(จำเป็น)

  1. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูของไผ่
    ปกติไม่มีการระบาดรุนแรงของโรคและแมลงในสวนไผ่มากนัก มีเพียงแมลงพวกหนอนผีเสื้อกลางคืนมากัดกิน และม้วนใบไผ่เพื่อหลบซ่อนและเป็นที่อาศัยในระยะเป็นดักแด้บ้างเล็กน้อย แมลงที่เข้าทำลายหน่ออ่อนของไม้ไผ่ส่วนมากเป็นประเภทกัดกินหน่อ 4-5 ชนิด คือ หนอนด้วงเจาะหน่อไผ่(ไผ่หวานลืมแล้งไม่ค่อยเจอเพราะลำค่อนข้างตัน), ด้วงกินหน่อ, ด้วงงวงเจาะกิ่ง ,เพลี้ยอ่อนและมวนดูดน้ำเลี้ยง การควบคุมและกำจัดสามารถกระทำได้หลายวิธี คือ ภายหลังที่หน่อเริ่มแตกจากตาของเหง้าปล้องแล้ว ก็หาทางป้องกันพวกเชื้อราและแมลงที่เข้ามากัดกินและอาศัยอยู่ตามกาบของหน่ออ่อน โดยการใช้สารปราบศัตรูพืช เช่น มาลาไทออน ผสมน้ำราดที่หน่อและเหง้า หรือใช้ฟูราดาน ภูไมด์ หว่านลงที่ดิน แต่อย่านำหน่อไปบริโภคภายใน 60วัน หรือใช้วิธีควบคุมโดยการลิดกิ่ง หรือตัดลำแก่ที่เป็นที่อยู่ของดักแด้ออก แล้วทำลายหรือขายลำไป จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนประชากรแมลงได้  ส่วนมากแล้วไม่ค่อยพบปัญหาเกี่ยวกับโรคต่างๆในไผ่หวานลืมแล้ง แต่จะพบเพลี้ยตัวสีขาวๆเกิดขึ้นตามข้อไผ่อ่อน เราอาจใช้ผงซักฟอกละลายน้ำราดรดลงไปก็จะหาย  ถ้ามีจำนวนน้อยไม่มากนักก็ใช้มือขยี้ ถ้าจำเป็นต้องใช้เคมีก็ต้องใช้ชนิดอ่อนๆเช่น เซฟวิน ฉีดพ่นครับ

6.การตัดหน่อ

ไผ่หวานลืมแล้งจะแทงหน่อตลอดปีแต่จะดกมากเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน (เม.ย.-มิ.ย.)การตัดหน่อจะตัดเมื่อหน่อยาวประมาณ 1 ฟุต โดยใช้เสียมหางปลาตัดหน่อบริเวณกาบใบที่ 3 จากโคนหน่อ ซึ่งจะเหลือตาไว้ 2-3 ตา สำหรับแตกหน่อในช่วงถัดไป สำหรับหน่อที่ไม่แข็งแรงให้ตัดออกทิ้งไป การตัดหน่อควรทำตอนเช้ามืด เพื่อจะได้หน่อไม้สดส่งตลาด หน่อไม้ไผ่หวานลืมแล้ง(หน่อไม้หวาน)ที่ตัดไว้นาน ๆ จะทำให้ความหวานของหน่อลดลง ดังนั้น ควรตัดหน่อแล้วรีบขายทันที ในการตัดหน่อควรเริ่มตัดหน่อจากกลางกอก่อน แล้วขยายวงออกมารอบนอกกอ ส่วนหน่อที่อวบใหญ่ที่อยู่ด้านนอกควรมีการรักษาไว้เพื่อให้เป็นลำแม่เลี้ยงหน่อต่อไป

 

การขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนง (การตอนแล้วนำมาชำกิ่ง)

การขยายพันธุ์กิ่งไผ่มีหลายวิธีครับ แต่สำหรับไผ่หวานลืมแล้งการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงนี้ เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุดเพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถตัดชำกิ่งแขนงได้จำนวนมาก ความสำเร็จในการตอนและปักชำโดยใช้กิ่งแขนงขึ้นอยู่กับชนิดของไผ่ หากเป็นไผ่ที่มีรากอากาศบริเวณโคนกิ่ง เช่น ไผ่หวานลืมแล้ง จะมีความสำเร็จสูง ผมจึงขอแนะนำการขยายพันธุ์ไผ่ด้วยวิธีนี้ครับ

การเตรียมอุปกรณ์เพื่อตอนกิ่ง

  1. เลื่อยโค้งตัดแต่งกิ่ง2.มีดคม หรือ คัดเตอร์  3.กรรไกรแต่งกิ่ง 4.เทปพันสายไฟหรือเชือก   5. น้ำยาเร่งราก  6.ถุงพลาสติก(5*8)      7.หนังยาง

8.ดินที่ใช้สำหรับการตอนในถุงพลาสติก (ใยมะพร้าว2ส่วน+ดินที่ผสมขี้เถ้าแกลบ1ส่วน)

วิธีตอนกิ่งไผ่หวานลืมแล้ง

กิ่งแขนง คือกิ่งที่แตกจากตาบริเวณข้อต่อของลำไผ่ ความสำเร็จของการตอนกิ่งแขนงขึ้นอยู่กับการเลือกกิ่งแขนงและฤดูที่จะตอนด้วย ฤดูที่เหมาะในการตอนกิ่งแขนงของ ไผ่หวานลืมแล้ง คือ ปลายฤดูฝนช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก การเลือกกิ่งแขนงควรเลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วถึงนิ้วครึ่ง(ไม่แก่ไม่อ่อน) ที่มีรากอากาศเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง และใบที่ยอดคลี่แล้ว กาบหุ้มตาหลุดหมด อายุของกิ่งแขนงอย่างน้อยต้องมีอายุ 4-6 เดือน ถ้าค้างปียิ่งดี เมื่อเลือกกิ่งแขนงได้ตามความต้องการแล้ว ให้ใช้เลื่อยโค้งเลื่อยตรงกลางระหว่างกิ่งแขนงกับลำไผ่ เลื่อยไปจนกิ่งแขนงเกือบขาด(80%)จากนั้นก็ดึงกิ่งแขนงให้แยกจากลำแม่ ให้เหลือเปลือกเขียวของลำแม่ให้บางที่สุด นำดินที่ใส่ถุงเตรียมไว้พร้อมที่จะตอน กรีดถุงด้านหนึ่งขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าของถุงดินที่จะตอนทิ้งไป(2.5*3.5นิ้ว) นำน้ำยาเร่งรากราดใส่ถุงดินที่จะตอนให้ชุ่ม  ดันประกบจากด้านล่างเข้ากับกิ่งแขนง แล้วค่อยใช้เทปดำพันถุงดินที่ตอนให้แน่นเหลือช่องว่างให้น้ำเข้ามาได้ทางด้านบนเวลารดน้ำ ใช้เชือกฟางแก้วหรือเทปดำยึดกิ่งแขนงไว้กับลำไผ่กันลมโยก หมั่นรดน้ำให้ชุ่ม  5-10วัน รากจะออก

เราควรปล่อยให้รากออกเต็มที่จึงค่อย ตัดกิ่งที่ตอนได้ลงมาเพื่อใส่ถุงชำหลังจากนั้นรอให้กิ่งพันธุ์แตกใบอ่อนแสดงว่ารากเดินดีแล้วจึงค่อยนำลงแปลงปลูก ก่อนทำการปักชำควรมีการเตรียมดินที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะชำ โดยการย่อยดินและผสมดินกับ(ขี้เถ้าแกลบ+ใยมะพร้าว)ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยประมาณ แล้วตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น หลังจากให้นำกิ่งไผ่ที่ตอนแล้วลงถุง ควรกดดินให้แน่นแต่ต้องระวังไม่ให้รากขาด รดน้ำทันทีเพื่อให้กิ่งชำสดอยู่เสมอ

หลังจากนั้นหมั่นดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน จนกระทั่งกิ่งแขนงที่ชำแข็งแรงดีใช้เวลาประมาณ3-4อาทิตย์ ก็ย้ายลงปลูกในแปลงได้  เพื่อการค้าในปัจจุบันนิยมชำในถุงพลาสติกโดยตรงตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนขณะย้ายชำกล้าและสะดวกในการขนย้ายไปปลูกตามที่ต่างๆ ปกตินิยมใช้ถุงขนาด 5 x 8 ปักชำกิ่งไผ่เพื่อให้กิ่งไผ่ที่ตอนมาแตกใบและราก ตัดปลายกิ่งออก ให้กิ่งแขนงที่จะปักชำยาวประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร มีข้อติดอยู่ 3-4 ข้อ (สำคัญรากต้องเต็ม) ผมเคยนำกิ่งตอนที่มีรากเต็มและตัดออกจากลำไผ่ นำมาปลูกปรากฏว่าการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตของกิ่งไผ่เร็วมาก ไม่ตาย ขนส่งง่าย และสะดวกในการปลูก

 

อ้างอิง : คุณประหยัด  รักชาติ

ต.โพธิ์พระยา อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000

Email   P_southsea@yahoo.com

 

Posted under อาชีพน่าสนใจ